นวัตกรรมสังคมขององค์การบริหารส่วนตำบลท่ามะนาว หรือเรียกว่า “นวัตกรรมเพื่อพัฒนาท้องถิ่นตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เพราะการที่ผู้บริหาร อบต. ท่ามะนาว สามารถน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการบริหารองค์กร โดยมีระดับความเป็นเศรษฐกิจพอเพียงในระดับ “เข้าถึง” ก่อให้เกิดผลในที่สุดคือประโยชน์สุขให้กับประชาชนในพื้นที่ได้ ผู้บริหารเหล่านั้นนำพาบุคลากรภายในองค์กรให้ดำเนินงานที่เปลี่ยนแปลงไปจากการบริหารงานจัดการตามบทบาทหน้าที่ของ อปท. ทั่วไป ด้วยการมุ่งแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น และสร้างคุณภาพชีวิตในทุกด้าน ด้วยงบประมาณหรือทรัพยากรที่จำกัดและไม่แตกต่างจากอปท อื่น เป็นนวัตกรรมสังคม หรือการทำสิ่งใหม่ของ อปท. ดังเช่น นวัตกรรมสังคมขององค์การบริหารส่วนตำบลท่ามะนาว ด้วยการนำความรู้เทคโนโลยีจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับบริบทชุมชน นำมาทำให้ได้ผลจริง และพัฒนาต่อยอดอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่การปรับเปลี่ยนเกษตรเชิงเดี่ยวสู่เกษตรผสมผสาน การบริหารจัดการน้ำด้วยธนาคารน้ำใต้ดิน การจัดการขยะที่ต้นทาง จัดการขยะเปียกด้วยการพัฒนาถังขยะเปียก Green cone ซึ่งสามารถย่อยสลายเศษอาหารต่าง ๆ ได้ตลอดเวลา โดยไม่มีวันเต็ม ทำให้ไม่ต้องเคลื่อนย้ายถังขยะ นำไปแจกจ่ายใช้ในชุมชน น้ำมันพืชที่ใช้แล้วก็นำมาผลิตไบโอดีเซล ในส่วนของขยะการเกษตร เช่น มูลสัตว์/สุกร ก็มีการจัดการด้วยการทำบ่อหมักก๊าซชีวภาพนำไปให้บริการในการหุงต้มให้กับคนในชุมชน พัฒนาต่อยอดเป็นวิสาหกิจผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลสุกรในระดับชุมชน และจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกล้วยตากบานานาว ที่ใช้พาลาโบล่าโดม (ระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบเรือนกระจก หรือ Greenhouse solar dryer) มาใช้ตากกล้วย ทำผลิตภัณฑ์ส่งให้การบินไทย ด้วยการทำงานบูรณาการและนำเข้าสู่แผนพัฒนาตำบล ภายใต้วิสัยทัศน์ อบต. ท่ามะนาว ตำบลแห่งพลังงานทดแทน ส่งเสริมคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจพอเพียง
ที่มาของนวัตกรรม
หากพิจารณานวัตกรรมที่เกิดขึ้นโดยนายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่ามะนาวและกลุ่มแกนนำนั้นว่ามีที่มา และเป็นไปเพื่อการแก้ไขปัญหาอะไร คงหาคำตอบเฉพาะเจาะจงในแต่ละนวัตกรรมได้ไม่ง่าย แต่หากพิจารณาภาพรวม โดยเฉพาะความตั้งใจ ความสามารถ ความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน จากการรวมตัวกันของคนหนุ่มที่เต็มไปด้วยพละกำลัง เพื่อความสนุกสนานในเบื้องต้น กับความท้าทายเพื่อการสร้างประโยชน์ “ได้บุญ” ในบริบทสังคมไทย ทั้งงานอาสาทั่วไป ดังที่นายก ฯ เล่าด้วยใบหน้ายิ้มแย้มว่า “พอใครบอกว่าล้างห้องน้ำแล้วได้บุญ พวกเราก็ไปช่วยกันล้างอย่างเต็มที่ ยิ่งทำก็มีแต่เสียงชื่นชม ถึงขนาดเอา... (เหล้า) มาให้พวกเรา” สู่การอาสาในระดับประจำปีของชุมชนงานลอยกระทง ตลอดจนงานที่ได้รับมอบหมาย ความสำเร็จของงานต่าง ๆ ทำให้นายก ฯ และทีมอาสาเข้ามาช่วยเหลือบ้านเมืองเป็นผู้นำท้องที่ “ผมสมัครเป็นผู้ใหญ่ ตอนอายุ 26 เกินอายุที่สมัครได้ 1 ปี ขณะที่ผู้สมัครอีกคนอายุ 59 ปี อีก 1 ปี ก็จะหมดสิทธิ์การสมัคร” นายก ฯ เล่าถึงอดีตหนหลัง เป็นความหลังแห่งความภาคภูมิใจว่า ในตำบลท่ามะนาวมีกลุ่มแกนนำคนหนุ่มที่รวมตัวลงมือปฏิบัติในงานต่าง ๆ อย่างตั้งใจ อีกทั้งยังรวมกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อนำงบประมาณและความรู้มาพัฒนาบ้านเกิด จากฐานการเรียนรู้ต่อยอดของนายก ฯ และทีมแกนนำ
กลไกและกระบวนการ
นายกอบต. ท่ามะนาว ให้ความสำคัญและสนใจพัฒนาศักยภาพคนในชุมชนให้สามารถพึ่งพาตนเองได้บนพื้นฐานของความถนัด ความสามารถและทรัพยากรที่มีอยู่ตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ อย่างบูรณาการ ค้นหาผู้ที่มีศักยภาพ สร้างให้มีความรู้ความสามารถในเรื่องนั้น ๆ โดยไม่ต้องพึ่งพาหน่วยงานภายนอก ภายใต้แนวคิดที่ว่า คนของเราต้องทำได้ เป็นการสร้างทีมวิทยากรเพื่อทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่องจนอยู่ในวิถีชีวิต โดยมีกลุ่มแกนนำที่ขยายตัวจากจุดเริ่มต้นคือจิตอาสา “ชมรมคนหนุ่มท่ามะนาว” สู่การเป็นแกนนำ/ผู้นำอย่างเป็นทางการ ทั้งผู้นำท้องถิ่น (นายก ผู้บริหาร และสมาชิกสภา) และผู้นำท้องที่ (กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน) ตลอดจนผู้นำอย่างไม่เป็นทางการ คือแกนนำกลุ่มอาชีพ อสม. และผู้นำองค์กรชุมชน และภาคประชาชน เป็นกลไกขับเคลื่อน กิจกรรมอย่างต่อเนื่องด้วยความเข้มแข็งและสามัคคีจนเป็นที่ยอมรับของชุมชน ภาคีเครือข่ายสนับสนุนการทำงาน ทั้งงบประมาณและองค์ความรู้จากภายนอก ด้วยการเข้าร่วมโครงการต่าง ๆ เช่น “โครงการรักษ์ป่า สร้างคน 84 ตำบล วิถีพอเพียง” กิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่ปี 2552 โดย ปตท. ได้เข้ามาช่วยขับเคลื่อนแผนพัฒนาตำบลตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่มุ่งแก้ปัญหา 3 ด้าน คือ หนี้สิน สิ่งแวดล้อม และพลังงาน ด้วยเริ่มจากแกนนำทำบัญชีครัวเรือน ได้ข้อมูลเป็นปีและมีการคืนข้อมูลให้ชาวบ้านได้รับทราบ และมาร่วมออกแบบชีวิตอุดรูรั่ว ลดรายจ่าย คิดกิจกรรมแก้ปัญหา ด้วยการสร้างนวัตกรรมต่าง ๆ ที่มาจากการเลือกสิ่งที่เหมาะสมกับบริบทชุมชน ไม่เน้นเทคโนโลยีระดับสูงหรือราคาแพง นวัตกรรมก๊าซชีวภาพจากมูลสุกร และพลังงานทดแทน ภายในชุมชน ด้วยการร่วมกันทำ ประเมิน วิเคราะห์ เกิดผลสำเร็จ จนชาวบ้านสนใจเข้ามาเรียนรู้ เกิดการต่อยอดพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้วิถีพอเพียง ภาคกลาง ตำบลท่ามะนาว เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ แลกเปลี่ยนเผยแพร่ความรู้ให้กับอปท. และชุมชนที่สนใจ และโครงการตำบลสุขภาวะของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นกิจกรรมพัฒนาชีวิตของคนทุกช่วงวัย ที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน เป็นต้น ที่สำคัญ ในการดำเนินกิจกรรมพัฒนาต่าง ๆ ด้วยการนำทุกโครงการจากการสนับสนุนงบประมาณของหน่วยงานภายนอกเข้าสู่แผนพัฒนาตำบล เพื่อให้เกิดการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องด้วยงบประมาณของอบต.
ผลลัพธ์ และผลในที่สุดของนวัตกรรม
ความสำเร็จของการผลงานการพัฒนานวัตกรรมเพื่อพัฒนาท้องถิ่นของอบต. ท่ามะนาวมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เมื่อครั้งนายก อบต. ท่ามะนาวและทีมงานรวมตัวอาสาทั่วไป จนอาสาเข้ามาบริหาร อบต. สร้างผลงานความสำเร็จต่าง ๆ จากเข้าร่วมเป็น 1 ใน 84 ตำบลพอเพียงกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และร่วมมือกับภาคีเครือข่ายอื่น ๆ ตลอดจนการต่อยอดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง สามารถขับเคลื่อนให้ครัวเรือนในตำบลท่ามะนาวเป็นครัวเรือนพอเพียงอาสา ในการดำเนินชีวิตตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง พึ่งตนเองด้านพลังงาน ลดรายจ่ายจากการปลูกพืชผักไว้กินและแก๊สหุงต้ม เพิ่มรายได้จากพืชผักที่ปลูกและรายได้จากผลิตภัณฑ์ของวิสาหกิจชุมชน เช่น วิสาหกิจผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลสุกรในระดับชุมชน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกล้วยตากบานานาว ที่ใช้พาลาโบล่าโดม (ระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบเรือนกระจก หรือ Greenhouse solar dryer) มาใช้ตากกล้วย ทำผลิตภัณฑ์ส่งให้การบินไทย