รัฐบาลไทยได้น้อมนำ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาเป็นแนวทางในการพัฒนาและบริหารประเทศ ตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545-2549) จนมาถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) ในปัจจุบัน โดยได้กำหนดให้ยึดคนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา และยึดวิสัยทัศน์ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มาเป็นกรอบในการกำหนดวิสัยทัศน์เป็น “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้วด้วยการพัฒนาตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง” มาเป็นแนวทางในการพัฒนาและบริหารประเทศสถานการณ์โรคระบาดโควิด–19 ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่มวลมนุษยชาติทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่งผลให้เกิดการตระหนักในความสำคัญของผลกระทบระดับโลกที่เป็นส่วนหนึ่งมาจากการทำลายธรรมชาติของคนในสังคมมานานนับหลายสิบปี ส่งผลให้ต้องหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาสู่ความยั่งยืนอย่างจริงจัง ประเทศไทยมีหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งเป็นหลักปรัชญาที่เป็นของตนเองในการชี้นำการเติบโตอย่างยั่งยืนที่จะช่วยขับเคลื่อนปฏิสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ได้อย่างกลมกลืน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาองค์การและการพัฒนาสังคมทั้งระดับประชาชน ชุมชน ประเทศ และนานาชาติ ถือเป็นหัวใจสำคัญของทิศทางการพัฒนาบนพื้นฐานหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งสอดคล้องกับการพัฒนาที่มุ่งสู่ความยั่งยืนของนานาชาติ และในที่สุดแล้วก็จะนำมาถึงการขับเคลื่อนสังคมสู่การอยู่อาศัยอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับผู้อื่นในสังคมทั้งโลกและธรรมชาติอีกยาวไกล