เกี่ยวกับเรา

เกี่ยวกับ sepaction

การพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์ม sepaction ได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่องรวม 3 ระยะ โดยได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ในการดำเนินงานระยะที่ 1 และ 2 และได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในการดำเนินงานในระยะที่ 3/1 โดยในแต่ละระยะได้ดำเนินงานไปพร้อมกับชุดโครงการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศไทย ซึ่งมีศาสตราจารย์ ดร.อภิชัย พันธเสน เป็นประธานแผนงานโครงการ ร่วมกับหัวหน้าโครงการวิจัยจาก 7 สถาบัน ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยราชภัฎรำไพพรรณี มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม มหาวิทยาลัยข่อนแก่น และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จึงทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ร่วมโครงการวิจัยเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงบนดิจิทัลแพลตฟอร์ม sepaction เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังได้รับผลสะท้อนในการใช้งานจาก อปท. ที่เข้ามาใช้งานมาโดยตลอด และยังได้รับความอนุเคราะห์จากหัวหน้าโครงการเข้ามาร่วมเป็นคณะที่ปรึกษาของดิจิทัลแพลตฟอร์มนี้อีกด้วย

จากการที่ได้มีการพัฒนาและปรับปรุงดิจิทัลแพลตฟอร์ม sepaction เพื่อขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติแบบมีส่วนร่วมมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561 จนถึง 2563 ภายใต้โดเมนเนม https://sepaction.com โดยในการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์ม sepaction ในระยะแรกนั้นมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้นำเสนอการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการดำเนินกิจการ งาน โครงการ หรือกิจกรรม กับหน่วยงาน องค์กร ชุมชน ครอบครัว ตลอดจนนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตของตนเอง โดยรูปแบบของ sepaction มีลักษณะเป็นโซเชียลเน็ตเวิร์ค ซึ่งจะทำให้ข้อมูลของวิถีปฏิบัติเศรษฐกิจพอเพียงจากผู้เข้าร่วมดิจิทัลแพลตฟอร์ม sepaction มีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา

ในช่วงระยะที่ 2 ของโครงการ ทีมผู้ดูแลและพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มได้ปรับปรุงรูปแบบมาโดยตลอด และได้สร้าง sepaction อคาเดมี (url: https://sepaction.com/academy) ขึ้นมา เพื่อนำวิธีการและแนวทางปฏิบัติที่ได้จากตัวอย่างหรือต้นแบบจากผู้ที่นำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปปฏิบัติได้อย่างประสบความสำเร็จ มาพัฒนาเป็นวิชาที่เปิดให้เรียนรู้ออนไลน์ในรูปแบบ Massive Online Open Course หรือ MOOC โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อที่จะทำให้มีผู้ปฏิบัติเศรษฐกิจพอเพียงด้วยความเข้าใจและเข้าถึงจำนวนมากยิ่งขึ้น

ในช่วงท้ายโครงการในระยะที่ 2 ทีมงาน sepaction ได้สร้าง LINE official account ที่มีชื่อเดียวกันกับดิจิทัลแพลตฟอร์มคือ @sepaction และได้พัฒนา Chat bot รวมถึงแอพพลิเคชั่นที่ใช้งานร่วมกับ LINE Official Account (LINE OA) ดังกล่าว ซึ่งทำให้ผู้ใช้แอพพลิเคชั่น LINE สามารถเข้าถึงข้อมูลในดิจิทัลแพลตฟอร์ม sepaction ได้ง่ายมากยิ่งขึ้น รวมถึงสามารถเข้าดูข้อมูลผลวิจัยในชุดโครงการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศไทยทั้ง 6 โครงการ จากทั้ง 2 ระยะที่ผ่านมาได้ตลอดเวลา

และในระยะที่ 3/1 ได้มีการพัฒนาโปรแกรม “กัลยาณมิตร” ซึ่งเป็นโปรแกรมทดสอบระดับความเป็นเศรษฐกิจพอเพียงขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเริ่มต้นจากการนำเข้าข้อมูลดังนี้

  1. ข้อมูลตัวชี้วัดระดับความเป็นเศรษฐกิจพอเพียงสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหลักเกณฑ์การให้คะแนนของแต่ละตัวชี้วัดตามที่นักวิจัยใช้ในการประเมินองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้าร่วมโครงการ
  2. ข้อมูลเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs และหลักเกณฑ์การให้คะแนนระดับการบรรลุเป้าหมาย โดยข้อมูลทั้ง 2 นี้จะมีความเชื่อมโยงกัน เมื่อได้รับคะแนนจากแบบทดสอบระดับความเป็นเศรษฐกิจพอเพียงก็จะทำให้ได้คะแนนระดับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยอัตโนมัติ
  3. การเก็บรวบรวมข้อมูลจุดเด่น และผลคะแนนรายตัวชี้วัดและตัวชี้วัดย่อยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับผลการประเมินระดับความเป็นเศรษฐกิจพอเพียงในระดับ “เข้าถึง”
  4. ข้อมูลของหน่วยงานที่มีการยกระดับความเป็นเศรษฐกิจพอเพียงจากระดับ “เข้าข่าย” และ “เข้าใจ” มาเป็น “เข้าถึง”
    ผู้ใช้งานทั่วไปสามารถเข้าดูข้อมูลผลการประเมินรายตัวชี้วัดของหน่วยงานทั้ง 302 แห่ง โดยเป้าหมายของแผนงานในระยะต่อไปคือขยายเครือข่ายอปท.ที่เข้าร่วมโครงการเป็น 500 แห่ง

การใช้ประโยชน์จากดิจิทัลแพลตฟอร์ม sepaction

ผู้ใช้งานดิจิทัลแพลตฟอร์ม sepaction ประกอบด้วย นักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไป นักวิจัย เจ้าหน้าที่อปท. และตัวแทนชุมชน ดังแสดงในภาพ โดยผู้ใช้ทุกกลุ่มสามารถเข้าใช้งานดิจิทัลแพลตฟอร์ม sepaction และ sepaction academy ได้ ในขณะที่โปรแกรมกัลยาณมิตรจะสามารถใช้งานได้เฉพาะ นักวิจัย เจ้าหน้าที่อปท. และตัวแทนชุมชนเท่านั้น

ความท้าทายในก้าวต่อไปของดิจิทัลแพลตฟอร์ม sepaction

เนื่องจากการพัฒนาต้นแบบตัวชี้วัดระดับความเป็นเศรษฐกิจพอเพียงนั้นสามารถนำไปพัฒนาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับหน่วยงานหลายประเภท เช่น โรงพยาบาล หน่วยงานราชการ เป็นต้น ดังนั้นในอนาคตโปรแกรมกัลยาณมิตรจะพัฒนาให้รองรับตัวชี้วัดระดับความเป็นเศรษฐกิจพอเพียงสำหรับองค์กรได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น

ถึงแม้ว่าแพลตฟอร์ม sepaction จะมีข้อมูลเพิ่มขึ้น แต่อาจจะยังไม่เพียงพอที่จะทำให้มีความน่าสนใจในการเข้ามาใช้งาน หรือมีโอกาสได้เห็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์เหล่านี้เพิ่มขึ้นมากนัก หัวหน้าแผนงานและทีมพัฒนาแพลตฟอร์มจึงมีแนวคิดที่จะสร้างห้องแสดงสินค้าออนไลน์ (Online Showroom) เพื่อสนับสนุนให้วิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ อปท. ทั้งหมดที่เคยเข้าร่วมโครงการนี้มีตลาดเพิ่มมากขึ้น เป็นการช่วยยกระดับรายได้ของประชาชนในพื้นที่ของ อปท. ในโครงการนี้ได้อีกทางหนึ่ง และยังเป็นการช่วยให้มีผู้เข้ามาเลือกชมสินค้าจาก อปท. อื่นๆ ได้ศึกษาเรียนรู้ในการบริหารงานตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพิ่มมากขึ้น

โครงการ “พัฒนาต่อยอดดิจิทัลแพลตฟอร์ม sepaction เพื่อขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติและสร้างวิถีชีวิตให้มีระดับความเป็นเศรษฐกิจพอเพียงที่สูงขึ้น ให้กับประชาชนทุกภาคส่วน” ในครั้งนี้ได้รับทุนการวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2564 ทางผู้บริหารโครงการและคณะต้องขอขอบพระคุณในการสนับสนุนงบประมาณจนโครงการนี้ได้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผลงานของโครงการนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงต่อไป