ถอดบทเรียน อบต. สำโรงตาเจ็น อปท. ในระดับเข้าถึงความเป็นเศรษฐกิจพอเพียง....

sepaction  avatar   
sepaction
องค์การบริหารส่วนตำบลสำโรงตาเจ็น ได้ดำเนินการขอรับการตรวจสอบจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จำนวน 1 ครั้ง ภายใน 1 ปี โดยเป็นการตรวจสอบแบบประจำปี ส่วนผลการประเมิน LPA (Local Performance Assessment: ป..

จุดเด่นการประยุกต์เศรษฐกิจพอเพียง

ตัวชี้วัดระดับ “เข้าข่าย”

ข้อที่ 1 ความโปร่งใสหรือการป้องกันการทุจริต 

     องค์การบริหารส่วนตำบลสำโรงตาเจ็น ได้ดำเนินการขอรับการตรวจสอบจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จำนวน 1 ครั้ง ภายใน 1 ปี โดยเป็นการตรวจสอบแบบประจำปี ส่วนผลการประเมิน LPA (Local Performance Assessment: ประสิทธิภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) จากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ย้อนหลัง 3 ปี คะแนนประเมิน พ.ศ. 2559 ได้คะแนน 77.06 %  พ.ศ. 2560 ได้คะแนน 89.94 % และ พ.ศ. 2561 ได้คะแนน 92.31 %

ข้อ 2 การวางแผนแบบมีส่วนร่วม

     ได้ดำเนินการกระบวนการจัดทำแผนแบบมีส่วนร่วมคือเริ่มจากการใช้ข้อมูลจาก       แผนชุมชน โดยเริ่มต้นจากชุมชนทำแผน ซึ่งแต่ละหมู่บ้านก็มีแผนพัฒนาชุมชนและข้อมูลของตนเอง ต่อจากนั้นคณะกรรมการพัฒนาท้องถิ่นที่จะเป็นผู้ที่ออกไปร่วมการจัดทำประชาคม เพื่อรับทราบข้อมูล ปัญหา ความต้องการจากชุมชนที่ได้มีการทำแผนชุมชนไว้แล้ว ซึ่งประชาชนในทุกหมู่บ้านจะได้รับการประชาสัมพันธ์ให้เข้าร่วมการจัดทำประชาคม โดยมีการประสานงานกับกลุ่มผู้นำหมู่บ้าน ให้ช่วยประชาสัมพันธ์เสียงตามสายผ่าน หอกระจายข่าว โดยได้จัดโครงการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นในลักษณะโครงการฝึกอบรมการจัดทำแผนแล้วมีการทำประชาคมต่อจากกิจกรรมการอบรมนั้น นอกจากแผนฯมีการเปลี่ยนแปลงโครงการ หรือมีการเพิ่มโครงการใหม่ที่มีความจำเป็นในการแก้ไขปัญหา จึงจะมีการออกไปทำประชาคมอีกรอบในปีนั้น ซึ่งหากไม่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง คณะกรรมการฯก็อาจจะใช้ข้อมูลจากการทำประชาคมเดิม ที่มีอยู่แล้วนั้นไปดำเนินการจัดทำแผนได้ 

     เมื่อคณะกรรมการสนับสนุนแผนพัฒนาท้องถิ่นจัดทำร่างแผนพัฒนาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จะเสนอร่างแผนฯต่อคณะกรรมการพัฒนาท้องถิ่น เพื่อทำการวิพากษ์ร่างแผนฯและอาจมีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงในส่วนที่ต้องแก้ไข เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จก็จะมีการส่งร่างแผนฯ ไปยังผู้บริหารท้องถิ่น เพื่อเสนอต่อประธานสภาฯ เพื่อให้บรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมสภาฯ ซึ่งขั้นตอนการประชุมสภาฯเพื่อพิจารณาแผนฯ    มีการเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมรับฟังการประชุมได้ โดยมีหนังสือประชาสัมพันธ์ส่งไปยังผู้นำหมู่บ้าน บรรยากาศในการทำประชาคมหมู่บ้านและมีการประสานงานกับผู้นำหมู่บ้านคือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในการใช้สถานที่จัดทำประชาคม เช่น ศาลาประชาคม ศาลาการเปรียญวัด เป็นต้น โดยประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดเตรียมสถานที่ เช่น จัดโต๊ะ เก้าอี้ เตรียมน้ำดื่ม หรือหากมีการทำประชาคมในเวลาที่ใกล้รับประทานอาหาร เช่น ตอนเที่ยงหรือตอนหัวค่ำ ก็จะมีการรับประทานอาหารร่วมกัน โดยประชาชนก็จะทำอาหารมาร่วมสมทบ จึงสะท้อนการวางแผนและจัดทำแผนแบบมีส่วนร่วมทั้ง 4 ฝ่าย โดยในการตัดสินใจขั้นสุดท้าย ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการสังเกตการณ์ รับฟัง และร่วมสนับสนุนทรัพยากร 

ข้อ 3 การวางแผนการทำงานเพื่อส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น

     ได้มีการจัดตั้งกลุ่มเยาวชนที่ริเริ่มโดยสภาเด็กและเยาวชน และมีการดำเนินกิจกรรมร่วมกันเป็นประจำทุกปี ซึ่งในหนึ่งปีจะมีการประชุมกันอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง โดยมีทีมฝ่ายส่งเสริมการศึกษา และฝ่ายสันทนาการเป็นผู้ดูแล มีการส่งเสริมให้กลุ่มเยาวชนเสนอประเด็นความต้องการแก่สภาฯ เพื่อนำความคิดเห็นต่างๆ จากการวางแผนของเยาวชนไปจัดทำเป็นข้อบัญญัติฯ และบรรจุเป็นโครงการตามแผนอนุมัติงบประมาณรายจ่าย จากกิจกรรมที่องค์การบริหารส่วนตำบลสำโรงตาเจ็นได้ดำเนินการร่วมกับสภาเด็กและเยาวชนตำบล สะท้อนให้เห็นว่า มีการส่งเสริมให้มีกลุ่มเยาวชนอย่างน้อย 1 กลุ่มที่มีการประชุมวางแผนการดำเนินกิจกรรมร่วมกับภาคประชาชน และแกนนำชุมชนจนนำไปสู่การเสนอจัดทำเป็นโครงการตามข้อบัญญัติขององค์การบริหารส่วนตำบล และดำเนินโครงการตามที่วางแผนไว้จนสำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์ที่วางแผนไว้

ตัวชี้วัดระดับ “เข้าใจ”

ข้อ 5 การบริหารงานภายในให้เป็นองค์กรแห่งความสุข

     มีการสำรวจความพึงพอใจในการดำเนินกิจกรรม 5 ส. ซึ่งในกิจกรรมมีเกณฑ์การประเมินความสุขในการทำงานของบุคลากร ซึ่งคะแนนประเมินภาพรวมได้ร้อยละ 90 ขึ้นไป ส่วนนวัตกรรมสร้างความสุขภายในองค์กร และ/หรือ สร้างสุขให้กับประชาชนผู้รับบริการ จะมีเกณฑ์ตัวชี้วัดของเกี่ยวกับเรื่องการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีของ LPA อยู่แล้ว ซึ่งจะอยู่ในหมวดที่ 5 ของพระราชกฤษฎีการว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 โดยให้นำแนวทางการอำนวยความสะดวกและการลดขั้นตอนการปฏิบัติงานมาเป็นตัวชี้วัดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย ส่วนสวัสดิการพนักงาน มีการดูแลกันในยามเกิด แก่ เจ็บ ตาย 

ตัวชี้วัดระดับ “เข้าถึง”

ข้อ 9 การบริหารงานภายในให้เป็นองค์กรแห่งประโยชน์สุข

     ในประเด็นนี้มีการประหยัดค่าใช้จ่ายด้านเงินเดือนและค่าจ้างบุคลากรประจำเพื่อมีเงินเหลือไปใช้จ่ายเพื่อการพัฒนาต่างๆ ในพื้นที่ให้มากขึ้น ในรอบปีงบประมาณ 2562 องค์การบริหารส่วนตำบล สำโรงตาเจ็น สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายด้านเงินเดือนและค่าจ้างบุคคลากรประจำเพื่อมีเงินเหลือจ่ายในการพัฒนาต่างๆ ได้ไม่เกินร้อยละ 30 ตามเกณฑ์ประเมิน

ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น