จุดเด่นการประยุกต์เศรษฐกิจพอเพียง
จากการศึกษาระดับความเป็นเศรษฐกิจพอเพียงขององค์การบริหารส่วนตำบลบางคนที พบว่าอยู่ในระดับ “เข้าถึง” สะท้อนการเป็น “องค์กรแห่งประโยชน์สุข” ดังคะแนนการประเมินตามตารางที่ 1 ซึ่งกล่าวได้ว่ามีการน้อมนำ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” มาประยุกต์ในการบริหารงานองค์กรเพื่อพัฒนาไปสู่เป้าหมายตามวิสัยทัศน์ที่จะเป็น “... ศูนย์รวมแห่งภูมิปัญญา น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” จุดเด่นขององค์การบริหารส่วนตำบลบางคนที ปรากฏอยู่ในตัวชี้วัดด้านต่าง ๆ สรุปได้ดังนี้
1 การบริหารงานอย่างโปร่งใส มีธรรมาภิบาล
องค์การบริหารส่วนตำบลบางคนทีมีนโยบายการกำกับดูแลองค์กรที่ดี มีแผนการเสริมสร้างมาตรฐาน วินัยคุณธรรมจริยธรรมและการป้องกันการทุจริต มาตรการส่งเสริมคุณธรรมและความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้าง มาตรการให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน รวมถึงนโยบายป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์หรือผลประโยชน์ทับซ้อน
2 การวางแผนแบบมีส่วนร่วม
องค์การบริการส่วนตำบลบางคนทีเปิดโอกาสให้ตัวแทนของภาคประชาชนจำนวน 2 คน ซึ่งมาจากการคัดเลือกของชาวบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นผู้ใหญ่บ้านในแต่ละหมู่ จาก 9 หมู่ คัดเลือกให้เหลือ 2 คน เข้ามาเป็นคณะกรรมการพัฒนาแผนแบบมีส่วนร่วม หากแผนพัฒนาที่จัดทำเกี่ยวข้องกับครูหรืออนามัยก็จะให้บุคลากรดังกล่าวเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งถึงการตัดสินใจขั้นสุดท้าย โดย อบต. ได้ลงพื้นที่ทำประชาคมทุกหมู่บ้านในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคมของทุกปี ทบทวนแผนร่วมกับชาวบ้านว่าแผนพัฒนาตำบลฉบับเดิมยังใช้ได้หรือไม่ ต้องการเปลี่ยนแปลงสิ่งใด หากมีความต้องการมากก็จะให้ชาวบ้านจัดลำดับความสำคัญก่อนหลังด้วยตนเอง และเมื่อจัดทำแผนพัฒนาเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงจัดให้มีเวทีรับฟังความคิดเห็นว่าแผนฯ ดังกล่าวครบถ้วนถูกต้องหรือไม่ จากนั้นก็จะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
3 ด้านการวางแผนการทำงานเพื่อส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น
องค์การบริการส่วนตำบลบางคนทีให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กและเยาวชนอย่างต่อเนื่องผ่านการจัดกิจกรรมของสภาเด็กและเยาวชน รวมถึงสนับสนุนการจัดกิจกรรมของนักเรียนในโรงเรียน ปัจจุบันใน อบต. มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินคนหนึ่งเคยเป็นประธานสภาเด็กและเยาวชนมาก่อน แม้ว่าสิ่งนี้จะไม่ได้อยู่ในแผนการทำงานระยะยาวหรือเป็นความคาดหวังของ อบต. มาก่อน แต่ผลที่เกิดขึ้นกลับทำให้มีผลดีในแง่ที่ทำให้เกิดความรักความผูกพันในองค์กรและเกิดสำนึกรักบ้านเกิดมากขึ้น
4 ด้านการบริหารงานภายในให้เป็นองค์กรแห่งความสุข
จากการศึกษาความสุข ความรักและความสามัคคีของบุคลากร พบว่า บุคลากรส่วนใหญ่มีความรู้สึกที่ดีต่อเพื่อนร่วมงาน มีบรรยากาศการทำงานที่อบอุ่น เอื้อเฟื้อเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน ทุกคนช่วยกันทำงาน ไม่นิ่งดูดายและต่างก็ได้รับการปฏิบัติด้วยมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลที่ได้รับจากผู้นำชุมชนและบุคคลภายนอก โดยทุกคนกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า เจ้าหน้าที่ของ อบต.มีจิตอาสาให้บริการและให้ความร่วมมือกับชุมชนเป็นอย่างดี สำหรับเรื่องอบายมุข บุคลากรทุกคนไม่ได้เกี่ยวข้องกับอบายมุข แต่ประมาณร้อยละ 80 มีภาระหนี้สินจำเป็นอยู่บ้าง เช่น ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ฯลฯ แต่ก็เป็นหนี้ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้
5 ด้านการบริหารงานภายในให้เป็นองค์กรแห่งประโยชน์สุข
องค์การบริหารส่วนตำบลบางคนทีมีงบประมาณรายรับประมาณ 21,031,865 บาท/ปี จากรายงานการรับ - จ่ายเงิน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ประจำเดือนกันยายน พบว่า เป็นไปตามเกณฑ์ข้อ 9.1.1 คือเป็นค่าใช้จ่ายด้านเงินเดือนและค่าจ้างบุคลากรประจำ จำนวนไม่ถึงร้อยละ 30 ทำให้มีเงินเหลือมาใช้สำหรับโครงการพัฒนาต่าง ๆ ในพื้นที่มากขึ้น
6 ด้านการจัดการกิจกรรมลดปัญหาสังคมและเพิ่มสวัสดิการสังคมเท่าที่สามารถทำได้
พบว่า องค์การบริหารส่วนตำบลบางคนที มีนโยบาย แผนปฏิบัติการ และโครงการรูปธรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างหลากหลาย เช่น กิจกรรม “ปันผัก ปันสุข” แก่ผู้เปราะบางในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทุกวันศุกร์เว้นศุกร์ กิจกรรมนี้เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยบุคลากรของ อบต. ร่วมกับคนพิการ นำผักที่ตนเองปลูกเองและไข่ไก่ในชุมชน ที่จัดซื้อจากเงินบริจาคของผู้พิการไปรวมกันที่วัดแล้วช่วยกันจัดแบ่งให้แก่ผู้ที่เดือดร้อนจากพิษภัยโรคระบาด อันทำให้พวกเขาได้เปลี่ยนสถานภาพจากการที่เคยเป็น “ผู้รับ” ในฐานะคนพิการ มาเป็น “ผู้ให้” ทำให้เกิดความภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนช่วยเหลือผู้อื่น
ความโดดเด่นอีกประการหนึ่ง คือ การพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการและผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี รวมทั้งส่งเสริมให้บุคคลในครอบครัวได้รับการพัฒนาให้มีศักยภาพ
มีองค์ความรู้และทักษะต่าง ๆ ในการดูแลผู้ป่วยติดเตียง แก้ไขปัญหาด้านสุขาภิบาลและสิ่งแวดล้อมที่บ้านของผู้ป่วยติดเตียง คนพิการ หรือผู้สูงอายุอย่างเหมาะสม รวมถึงมีกองทุนปันน้ำใจไว้ดูแลผู้ด้อยโอกาสในชุมชนมีโครงการความร่วมมือกับมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม และการจ้างงานผู้พิการตามมาตรา 33 และ 35 ตามมาตรา 33 จำนวน 17 คน เป็นชาย 10 คน หญิง 7 คน และมาตรา 35 จำนวน 15 คน เป็นชาย 5 คน และหญิง 10 คน อันเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งและศักยภาพให้กับคนพิการ ทำให้พวกเขาได้เห็นถึงคุณค่าในตนเอง ไม่เป็นภาระให้กับครอบครัวและสังคม มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีอาชีพและมีรายได้เป็นของตนเอง เกิดความมั่นใจในตนเองและกล้าที่เข้าไปมีบทบาทในสังคมมากขึ้น เช่น พนักงานรายหนึ่งซึ่งเป็นชายวัยยี่สิบปีเศษ พิการทาง สติปัญญาแต่สามารถที่จะสื่อสารและทำงานได้ในระดับหนึ่ง เช่น การจัดเตรียมสถานที่สำหรับประชุม การเดินหนังสือ ฯลฯ จากการสังเกตและสอบถามพบว่า เขามีความสุขกับงานที่ได้รับมอบหมาย และมีความภูมิใจที่ได้ทำงานเก็บเงินให้แม่