จุดเด่นการประยุกต์ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
องค์การบริหารส่วนจังหวัดสระบุรีได้รับการประเมินระดับความเป็นเศรษฐกิจพอเพียงอยู่ในระดับ “เข้าถึง” สะท้อนการเป็น “องค์กรแห่งประโยชน์สุข” ซึ่งจากการศึกษา พบว่า การบริหารงานการประยุกต์ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของ อบจ. มีจุดเด่น 5 ประการ ดังนี้
3.1 การบริหารอย่างโปร่งใส มีธรรมาภิบาลและไม่มีการทำผิดกฎหมาย
อบจ. ได้ยึดหลักการดำเนินงานจัดซื้อจัดจ้าง การประกวดราคาตามระเบียบและขั้นตอนอย่างเคร่งครัด และบริหารความเสี่ยงอย่างรัดกุม เช่น ใน “การตกลงราคา” หรือ “ประกวดราคา” ได้เปิดโอกาสให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ก่อนการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง และพยายามหาข้อมูลราคากลางจากหน่วยงานอื่น ๆ ประกอบการตัดสินใจ เพื่อให้ อบจ.และประชาชนได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ ทั้งนี้พบว่าโครงการตามข้อบัญญัติปี 2563 จำนวน 116 โครงการ เป็นเงิน 643,224,304 บาท ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธี e-bidding จำนวน 116 โครงการ เป็นเงิน 470,398,884.13 บาท เท่ากับว่าประหยัดงบประมาณได้ 172,825,419.87 บาท คิดเป็นร้อยละ 26.87
นอกจากนี้ในการใช้งบประมาณ อบจ. ยังคำนึงถึงความยั่งยืนและความคุ้มค่าเป็นสำคัญ เช่น การสร้างโรงพยาบาลสนามเพื่อผู้ป่วยโควิด-19 จะคิดล่วงหน้าถึงการใช้ประโยชน์หลังภาวะโรคระบาดด้วย เช่น การสร้างโรงพยาบาลสนามที่ห้วยเจ็ดคตนั้น ในอนาคตจะปรับเป็นศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพผู้สูงอายุ เป็นต้น
3.2 การวางแผนและจัดทำแผนแบบมีส่วนร่วม
ในการดำเนินงานจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นและการประกาศแผนฯ และงบประมาณคงเหลือนั้น อบจ. ได้ยึดหลักการขั้นตอนวิธีการต่าง ๆ ตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง และยังยึดหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสำคัญ เปิดโอกาสการรับฟังผ่านโครงการต่าง ๆ ทั้งอย่างเป็นทางการละไม่เป็นทางการ เช่น โครงการชุมชนสัมพันธ์และมีโครงการ “พบประชาชน” เดือนละ 1 ครั้ง โดยการสัญจรลงไปในพื้นที่ที่แตกต่างกัน
3.3 การวางแผนการทำงานเพื่อส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น
งานที่โดดเด่น ได้แก่ การสนับสนุนการทำงานของสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดสระบุรี ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการนำเสนอนโยบาย แผนงานและรูปแบบการช่วยเหลือปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ทั้งมีผลดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมในการป้องกันปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2564 มีการจัดกิจกรรมอบรมออนไลน์ในโครงการ “รู้ก่อน ทันก่อน” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 มีผู้เข้าอบรมกว่า 450 คน และในปี 2565 สภาเด็กและเยาวชน จะวางแนวทางขับเคลื่อนงานโดยยกระดับการสร้างการรับรู้ประชาสัมพันธ์ และสร้างองค์ความรู้แก่เด็กและเยาวชนในสถานศึกษา โดยมุ่งไปที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดสระบุรี ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแล นักเรียน นักศึกษาโดยตรง พร้อมขับเคลื่อนโครงการ “100 ทีม 1,000 โรงเรียน” ร่วมกับมูลนิธิแพธทูเฮลท์ (path2health) นำหลักสูตรอบรมสร้างองค์ความรู้เท่าทันโลกให้กับเยาวชนในจังหวัด
การทำงานของสภาเด็กและเยาวชนมีการส่งต่องานจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง โดยสภา ฯ ในอดีตยังทำงานเป็นที่ปรึกษาสภาฯ ชุดปัจจุบันในการให้คำแนะนำและขับเคลื่อนงาน กิจกรรมที่สภาฯ มีบทบาทมากและทำสม่ำเสมอคือการจัดติวฟรีให้กับน้อง ๆ ในจังหวัด ทั้งด้านวิชาการ การเลือกสายการเรียน ปัญหาชีวิตวัยรุ่น การเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัย โดยมีวิทยากรที่เด็ก ๆ สนใจ จึงมีผู้เข้าร่วมฟังจำนวนมากในแต่ละครั้งแม้แต่การจัดออนไลน์ในช่วงสถานการณ์โควิด
นอกจากนี้ยังได้สนับสนุนการรวมกลุ่มของเด็กและเยาวชนผ่านโรงเรียนหรเทพ (รุ่งเรืองประชาสามัคคี) ซึ่งเป็นโรงเรียนในสังกัดอบจ. โดยมีกลุ่มเยาวชนมากกว่า 1 กลุ่ม รวมกลุ่มทำงานด้านปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเป็นพื้นฐานไปสู่การเป็นโรงเรียนวิถีพอเพียง นอกจากนี้จากการสนับสนุนของ อบจ.ในการสร้างท้องฟ้าจำลองตั้งแต่ราวปี 2553 ได้เป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดชมรมดาราศาสตร์ในหลายโรงเรียน และมีการทำงานค้นคว้าด้านดาราศาสตร์ส่งต่อระหว่างรุ่นพี่และรุ่นน้อง โดย อบจ.สนับสนุนงบประมาณในการจัดกิจกรรม
3.4 การบริหารงานภายในให้เป็นองค์กรแห่งประโยชน์สุข
ทั้งนี้จากการศึกษาสมรรถนะในการประหยัดงบประมาณด้านเงินเดือนและค่าจ้างบุคลากรประจำ ปี 2563 พบว่า อบจ. มีรายจ่ายรวม 1,132,000,000 บาท เป็นค่าใช้จ่ายด้านเงินเดือนและค่าจ้างรวม 75,811,100 บาท คิดเป็นร้อยละ 6.7 ของรายจ่ายทั้งหมด อันทำให้มีงบประมาณไปใช้ในการพัฒนาท้องถิ่นและคุณภาพชีวิตของประชากรมากขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วม โดยการระดมทุนจากภาคเอกชนในจังหวัดเป็นจำนวนเงินมากกว่า 72 ล้านบาทมาจัดทำโรงพยาบาลสนามสำหรับโรคระบาดโควิด
3.5 งานโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม
อบจ. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาความรู้โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของนักเรียนในโรงเรียนในจังหวัดอย่างทั่วถึง ทั้งจัดเงินอุดหนุนให้กับโรงเรียนภายในจังหวัดเป็นประจำทุกปีอย่างต่อเนื่อง ในเขตพื้นที่การศึกษาของสระบุรีซึ่งมี 3 หน่วย คือ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระบุรีเขต 1 เขต 2 และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา รวมถึงหน่วยงานทางการศึกษาต่าง ๆ ทั้ง กศน. ศูนย์การศึกษาพิเศษ วิทยาลัยเทคนิค ด้วยงบประมาณอย่างน้อย 30 ล้านบาทต่อปี นอกจากนั้นยังสนับสนุนโรงเรียนเทพศิรินทร์พุแคให้เป็นศูนย์เรียนรู้ส่งเสริมให้นักเรียนรวมกลุ่มแข่งขันประกวดหุ่นยนต์โดยจัดเป็นประจำทุกปี ยกเว้นช่วงโรคระบาด