ถอดบทเรียน อบจ. สุราษฎร์ธานี อปท. ในระดับเข้าถึงความเป็นเศรษฐกิจพอเพียง....

sepaction  avatar   
sepaction
จากการศึกษาระดับความเป็นเศรษฐกิจพอเพียง พบว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นองค์กรที่อยู่ในระดับ “เข้าถึง” หรือที่เรียกว่า “องค์กรแห่งประโยชน์สุข”....

จุดเด่นการประยุกต์ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

 

จากการศึกษาระดับความเป็นเศรษฐกิจพอเพียง พบว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นองค์กรที่อยู่ในระดับ “เข้าถึง” หรือที่เรียกว่า “องค์กรแห่งประโยชน์สุข”

 

3.1 การบริหารงานอย่างโปร่งใส มีธรรมาภิบาล และไม่มีการทำผิดกฎหมาย พบว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี ดำเนินงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่มีความพยายามที่จะร่วมมือกันหาผลประโยชน์ในบรรดาผู้บริหาร (ฝ่ายการเมืองและข้าราชการประจำ) ไม่มีการดำเนินงานใดที่ผิดกฎหมายและไม่ถูกร้องเรียนต่อหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบหรือหน่วยงานที่สูงกว่า การจัดซื้อจัดจ้างเป็นไปตามระเบียบและดำเนินการด้วยความโปร่งใส ซึ่งองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้รับการรับรองผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส (ITA) ประจำปี 2564 ด้วยคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 95.75 จัดอยู่ในระดับ AA หรือ ดีเยี่ยม         

          องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานีเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมวางแผนและจัดทำแผน ประชาชนจึงได้รับรู้ถึงจำนวนเงินสะสม เงินทุนหมุนเวียน และแหล่งที่มาของงบประมาณที่ได้รับในแต่ละปี ของ อบจ.ว่ามีมากน้อยเพียงใด เพื่อจัดทำแผนให้สอดคล้องกับงบประมาณและแหล่งรายได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

          นอกจากนี้ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานียังจัดตั้งคณะกรรมการจากบุคคลภายนอกโดยพิจารณาจากผู้ทรงคุณวุฒิในภาคราชการ ภาคเอกชน ภาควิชาการและภาคประชาสังคม ให้มีส่วนร่วมวางแผนและจัดทำแผนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้คำแนะนำปรึกษา เพื่อให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้รับข้อมูลหลากหลายด้าน โดยตั้งเป็นคณะกรรมการทั้งหมด 7 ชุด เพื่อสร้างความไว้วางใจ สร้างการมีส่วนร่วม และสร้างความโปร่งใสให้เห็นชัดเจน

          สำหรับการคัดเลือกคณะกรรมการจากภาคประชาชน ทำโดยการประกาศรับสมัครผู้สนใจทางเว็บไซด์ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี ประชาชนสามารถเลือกสมัครเป็นคณะทำงานได้ตามความเชี่ยวชาญและความสนใจของตน เช่น คณะทำงานสุราษฎร์ Smart City  การศึกษาอัจฉริยะ การสาธารณสุขอัจฉริยะ ความปลอดภัยอัจฉริยะ การบริหารจัดการน้ำ การท่องเที่ยว ตำบลละล้านส่งเสริมอาชีพ เป็นต้น นอกจากนี้องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานีเ ยังเชิญปราชญ์ชาวบ้านมาเป็นพี่เลี้ยง ให้คำแนะนำปรึกษาและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคณะกรรมการอีกด้วย

          ในกระบวนการอนุมัติเบิกจ่ายเงินขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีความรัดกุมและเข้มงวดมาก ต้องผ่านการกลั่นกรองจากหน่วยงานและบุคคลตามที่กฎหมายกำหนดอย่างรอบคอบ แล้วจึงเสนอให้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานีลงนาม  กรณีของการประกวดราคา หากมีเงินเหลือจาก e-bidding องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานีนำมาใช้จ่ายตามแผนงานตามลำดับความต้องการของชาวชุมชนหรือจัดเก็บเป็นเงินสะสมในระบบต่อไป

 

3.2 การวางแผนและจัดทำแผนแบบมีส่วนร่วม องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี มอบหมายเจ้าหน้าที่ฝ่ายยุทธศาสตร์และงบประมาณลงพื้นที่ทุกเทศบาลและทุกองค์การบริหารส่วนตำบล เพื่อทำแผนเสนอและผ่านความเห็นชอบจากสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งมีตัวแทนภาคประชาชนที่เป็นสมาชิกสภาจังหวัด (สจ.) จำนวน 36 คน จาก 19 อำเภอ จึงจะสามารถนำแผนนั้นไปดำเนินการได้

          นอกจากนี้ ประชาชนในพื้นที่ยังเข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนทรัพยากรสำหรับดำเนินกิจกรรมของ อบจ.สุราษฎร์ธานี เช่น กรณีที่ อบจ.ไม่มีสถานที่ ในการดำเนินโครงการ ภาคเอกชนจะเข้ามาให้การสนับสนุน หรือโครงการปรับปรุงที่อยู่อาศัยของประชาชน  ชาวชุมชนเข้ามาช่วยในส่วนของช่างและแรงงานด้วยความเต็มใจ ดังนั้น อบจ. จึงสนับสนุนเฉพาะวัสดุอุปกรณ์ในการซ่อมแซมเท่านั้น

 

3.3 การวางแผนการทำงานเพื่อส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานีส่งเสริมกิจกรรมต่างๆ ของสภาเด็กและเยาวชน โดยให้ตัวแทนสภาเด็กและเยาวชนเข้ามาเป็นคณะกรรมการของ อบจ.จำนวนหลายคณะ และจัดกิจกรรมเข้าค่ายต่างๆเพื่อให้เด็กและเยาวชนห่างไกลจากภัยยาเสพติดและให้เด็กและเยาวชนฝึกทำงานร่วมกันเป็นทีม และมีภาวะผู้นำ แต่ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (Covid-19) อบจ.จัดกิจกรรมเหล่านี้ลดน้อยลง

          ทั้งนี้ กลุ่มสภาเด็กและเยาวชนมีบทบาทสูงมากในการพัฒนาท้องถิ่น เพราะสภาเด็กฯ กลุ่มนี้จะเข้ามาเป็นจิตอาสาในกิจกรรมต่างๆ ทำหน้าที่เป็นฝ่ายประชาสัมพันธ์ ฝ่ายดำเนินกิจกรรม เช่น งานของท้องถิ่น งานประเพณีชักพระ ในส่วนโครงการของ อบจ. เด็กกลุ่มนี้จะมาร่วมเป็นวิทยากรด้วย

          อบจ.สุราษฎร์ธานี มีงบประมาณอย่างเพียงพอ สำหรับจัดกิจกรรมให้แก่เด็กและเยาวชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับวัยรุ่น เช่น  จัดกิจกรรมร่วมกับสาธารณสุขเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยเรียน และจัดกิจกรรมอื่นๆอย่างต่อเนื่อง

          นอกจากนี้ ยังพบว่า สมาชิกบางคนของสภาเด็กและเยาวชนที่สำเร็จการศึกษาแล้วมักมาทำงานเป็นพนักงานของ อบจ.เป็นงานแรก และด้วยภาวะความเป็นผู้นำ ผู้ขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ทำให้ระยะต่อมาเยาวชนเหล่านี้สามารถสอบเข้ารับราชการในหน่วยงานท้องถิ่นอื่นๆได้ หากมีโอกาส เยาวชนดังกล่าวจะย้ายกลับมาทำงานที่ อบจ. สุราษฎร์ธานี และมาช่วยผลักดันกิจกรรมของสภาเด็กและเยาวชนต่อไป ซึ่งเยาวชนเหล่านี้ เป็นผู้ประสานงานเชื่อมโยงสภาเด็กทุกรุ่นตั้งแต่รุ่นแรกจนถึงรุ่นปัจจุบัน ทำให้งานหรือกิจกรรมต่างๆ ขับเคลื่อนไปได้ด้วยดียิ่งขึ้น

 

3.4 การบริหารงานภายในให้เป็นองค์กรแห่งความสุข องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานีมีพนักงานทั้งหมดประมาณ 400 คน บุคลากรมีความรักความผูกพัน ร่วมมือกันโดยไม่แบ่งแยกตามกองหรือส่วนงานที่ตนสังกัด ร่วมมือร่วมแรงกันทำงานให้บรรลุเป้าหมาย เช่น การคัดกรองเชิงรุกในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (Covid-19) ผู้รับผิดชอบคือกองสาธารณสุข แต่การเคลื่อนย้ายตู้ความดันลบ กองช่างได้เข้ามาช่วยดำเนินการ

          นอกจากนี้องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี กำหนดให้ทุกวันพุธที่ 2 และ 3 ของเดือน มีการประชุมผู้อำนวยการกอง และผู้บริหารสำนักต่างๆ เป็นประจำทุกเดือนและเมื่อเร็วๆนี้ กำหนดให้ทุกวันพุธจะมีการดื่มน้ำชาก่อนเวลาทำงาน ผู้บริหารเชิญพนักงานมานั่งเสวนาเป็นการภายในเพื่อหลอมรวมเป็นทีมเดียวกันและจะได้ทราบทิศทางของผู้บริหารว่าจะขับเคลื่อนหน่วยงานอย่างไร ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า อบจ. ให้ความสำคัญกับความสุขของพนักงานเสมือนเป็นคนในครอบครัว ที่มีเป้าหมายร่วมกันและช่วยกันขับเคลื่อนองค์กรให้บรรลุเป้าหมาย ยังพบว่า เจ้าหน้าที่ของ อบจ. ละร้อยละ 90 ไม่ยุ่งเกี่ยวกับอบายมุข

 

3.5 งานโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานีมีโรงเรียนในสังกัด อบจ. ทั้งหมด 3 โรงเรียน คือ โรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี 1 (ดอนสักผดุงวิทย์) เน้นในเรื่องของความเป็นวิชาชีพ มีสาขาวิชาชีพ 2 สาขา โรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี 2 (บ้านดอนเกลี้ยง) อยู่ในเขตอำเภอเมือง ให้ความสำคัญในเรื่องวิชาการ และ โรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี 3 (บ้านนา) ตั้งอยู่อำเภอบ้านนาเดิม มุ่งเน้นกิจกรรมและกีฬา

          ซึ่งโรงเรียนแห่งนี้ได้รับการประเมินให้เป็นโรงเรียนที่มีความเป็นเลิศด้านกรีฑาและกีฬาประเภทฟุตบอล แต่ละโรงเรียนมีนักเรียนมากกว่า 1,000 คน โดย อบจ. มอบนโยบายในการพัฒนาการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นเรื่องของการมีวินัย การมีน้ำใจ เพราะสุราษฎร์ธานีเป็นเมืองคนดี เน้นให้ทุกโรงเรียนจัดมุมอาจารย์พุทธทาส และมีจุดเรียนรู้เพื่อให้เด็กนักเรียนเป็นคนดี  นักเรียนในโรงเรียนสังกัด อบจ. สามารถสอบเข้าคณะแพทย์ศาสตร์ได้ ได้เป็นตัวแทนทูบีนัมเบอร์วันไอดอลไปแข่งขันระดับประเทศ และได้รับรางวัลเหรียญทองด้านกีฬา อบจ. ยังมีนโยบายเข้มงวดในส่วนของโรงเรียนพิเศษด้านกีฬา หากนักเรียนสูบบุหรี่ หรือ ไม่ทำตามกติกาที่กำหนดไว้ โรงเรีียนจะดำเนินการทางวินัยขั้นรุนแรงคือ ให้ออกจากโรงเรียน ดังนั้น นักเรียนต้องไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เนื่องจากทำข้อตกลงกับสโมสรฟุตบอลประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานีที่เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงและฝึกสอนแก่นักเรียนดังกล่าว

          ในเรื่องของการสาธารณสุข อบจ. จะให้ความสำคัญกับประเด็นการส่งเสริม ศึกษา ฟื้นฟู ผู้บริโภค โดยให้ความสำคัญเป็นพิเศษแก่ชาวบ้านที่ด้อยโอกาส ชาวบ้านที่ต้องรอคิวรับบริการด้านการแพทย์ เช่น ทันตกรรม ตรวจ คลื่นหัวใจไฟฟ้า เอ็กซเรย์สมอง  และการตรวจในห้องแลปเบาหวาน ความดัน หรือหาเชื้อต่างๆ ด้วยการจัดช่องทางพิเศษแก่ผู้ป่วยกลุ่มนี้

นอกจากนี้ อบจ. ยังมุ่งดำเนินกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ ให้ประชาชนมีโอกาสดูแลตนเอง สร้างเสริมสุขภาพเพื่อป้องกันโรค และนำเทคโนโลยีมาช่วยกำหนดพิกัดบ้าน เพื่อบันทึกพิกัดนั้นไว้ในระบบแพลตฟอร์ม ซึ่ง อบจ. จะทำเป็นศูนย์สมาร์ทซิตี้ เพื่อบริการประชาชนได้อย่างทั่วถึงและรวดเร็ว

          และ อบจ. จะรับถ่ายโอน สายด่วน 1669 ซึ่งเป็นสายด่วนที่ให้บริการเฉพาะผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตินอกสถานพยาบาล มาสังกัด อบจ. และกำหนดให้มีชุดบริการเคลื่อนที่พร้อมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่และรถให้บริการเคลื่อนที่เข้าไปบริการผู้ป่วยฉุกเฉินอย่างรวดเร็ว รวมทั้งจัดทำศูนย์ดูแลผู้สูงอายุทั้งระบบ ประกอบด้วยผู้สูงอายุติดเตียง ผู้สูงอายุที่อยู่บ้าน เพื่อส่งเสริมสุขภาพทั้งด้านร่างกาย ด้านจิตใจ และป้องกันโรคสมองเสื่อม

          สำหรับการบริหารจัดการขยะ อบจ. รับผิดชอบหลักในการกำจัดขยะอันตราย เช่น แบตเตอรี่ ถ่านไฟฉาย หลอดไฟ ต่อเนื่องจากชุมชน อบต. และเทศบาล อบจ. จ้างบริษัทเอกชนมากำจัดขยะเหล่านี้ตามวิธีที่ถูกต้องทุกสิ้นปี นอกจากนี้ อบจ. มีแผนจะแปลงขยะให้เป็นพลังงาน ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบและสถานที่ที่เหมาะสม สำหรับการจัดการขยะอย่างครบวงจร อบจ.ได้ดำเนินการให้ความรู้แก่ประชาชนเรื่องกระบวนการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางจนสิ้นสุดกระบวนการ

 

3.6 การพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อมให้ดียิ่งขึ้น องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีความทุ่มเทในการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อมให้ดียิ่งขึ้นอยู่เสมอ โดย อบจ. ให้ความสำคัญต่อนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมเพือป้องกันบรรเทาสาธารณภัยเป็นหลัก โดยเฉพาะการเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบเหตุให้ทันท่วงที

          นอกจากนี้ยังมีนโยบาย หนึ่งอำเภอ หนึ่งแหล่งท่องเที่ยว เพื่อส่งเสริมให้แต่ละพื้นที่รักษาอัตลักษณ์ของตนเองและพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว เช่น พื้นที่ที่มีบ่อน้ำร้อน บ่อน้ำผุดหรือในพื้นที่ที่เป็นป่าไม้ ก็สามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ 

          สำหรับพื้นที่ป่าชายเลน อบจ. จัดโครงการส่งเสริมให้ประชาชนอนุรักษ์ป่าชายเลน รณรงค์ให้ปลูกป่าร่วมกันจากหลายภาคส่วน เช่น ภาคประชาชน ภาคเอกชน สื่อมวลชน เด็กและเยาวชน เป็นต้น

          ส่วนของพันธุ์สัตว์ต่างๆ อบจ. มีนโยบายและข้อปฎิบัติเกี่ยวกับวิธีจับสัตว์น้ำในช่วงฤดูกาลวางไข่ จัดทำบ้านปลา ธนาคารปู เพื่ออนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำให้อยู่ในระบบนิเวศอย่างสมดุล  

          ตั้งกลุ่มอนุรักษ์ในพื้นที่เกาะพยาม เพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวโดยรักษารูปแบบเดิมไว้

          ทำสัญญาประชาคมและข้อตกลงร่วมกันระหว่างพื้นที่ระหว่างนายทุนและประมงพื้นบ้าน เพื่อป้องกันการเกิดข้อพิพาทระหว่างสองฝ่าย

          อบจ. ให้ความสำคัญในการสร้างสมดุลระหว่างพื้นที่สร้างรายได้และพื้นที่สีเขียว จึงจัดตั้งวนอุทยานเพื่ออนุรักษ์พืชพรรณไม้ทั้งไม้ธรรมชาติและไม้ที่ปลูกเพิ่มขึ้น ตามโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

 

ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น