จุดเด่นการประยุกต์ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
เทศบาลเมืองเพชรบุรี ได้รับการประเมินระดับความเป็นเศรษฐกิจพอเพียงอยู่ในระดับ “เข้าถึง” สะท้อนการเป็น “องค์กรแห่งประโยชน์สุข” โดยมีคะแนนของตัวชี้วัดแต่ละประเด็น ดังตารางที่ 1 ซึ่งจากการศึกษา พบว่า การบริหารงานการประยุกต์ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของ ทต. มีจุดเด่น 8 ประการ ดังนี้
3.1 การวางแผนและจัดทำแผนแบบมีส่วนร่วม
นายกเทศมนตรีได้แถลงนโยบายต่อสภาเทศบาลเมืองเพชรบุรี โดยเน้น “หลักธรรมาภิบาล” โดยให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการ “ร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมพัฒนา” เพื่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชน และความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมืองในทุกด้าน ภายใต้แนวคิด “คลายความทุกข์ สร้างความสุข สู่เมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน” รวมทั้ง นโยบายด้านการบริหารจัดการ เน้นเรื่องการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนทุกภาคส่วน ได้มีส่วนร่วมในการวางแผนกำหนดแนวทางการพัฒนา การติดตาม และประเมินผลการบริหารงาน และการบริหารงานบุคลากรภายในเทศบาล จะยึดหลักนิติธรรมและคุณธรรม และพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ความสามารถ และทักษะในการปฏิบัติงาน ตลอดจนประพฤติตนให้เป็นไปตามมาตรฐานคุณธรรมจริยธรรมของเทศบาล พร้อมให้บริการประชาชนเสมือนดุจญาติมิตร
โดยมีการจัดระบบประชาคมที่เข้มแข็ง กระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมมีการจัดเวทีสำหรับประชาชนซึ่งมีผู้เข้าร่วมมากกว่า 600 คน เพื่อรับฟังปัญหาและนำไปสู่กระบวนการบรรเทาทุกข์ของประชาชน นอกจากนั้นได้จัดเวทีสำหรับผู้นำชุมชนเพื่อรับฟังปัญหาและรับเรื่องร้องเรียนต่างๆ ที่เป็นไปตามกระบวนการ และสามารถบรรเทาความเดือดร้อนของชุมชนได้มากกว่าร้อยละ 75 ของเรื่องร้องทุกข์ทั้งหมด
3.2 การวางแผนการทำงานเพื่อส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น
มีการส่งเสริมกลุ่มเยาวชนในพื้นที่ โดยทางเทศบาลเมืองเพชรบุรีได้มีโครงการเข้าไปสนับสนุนกลุ่ม อสม. จิ๋ว ของชุมชน ซึ่งกลุ่ม อสม. จิ๋ว ซึ่งเริ่มมาจากชุมชนมีแนวคิดที่ต้องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเยาวชนในชุมชน โดยให้เยาวชนใช้เวลาว่างให้มีเกิดประโยชน์ต่อชุมชนและตนเองในอนาคต
เทศบาลฯ และชุมชนจึงจัดกิจกรรมส่งเสริมความรู้การดูแลสุขภาพของตนเอง และภาวะการเป็นผู้นำให้กับเยาวชน ทั้งยังเสริมสร้างเยาวชนให้มีจิตอาสาช่วยเหลือชุมชน โดยเริ่มจากการนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้กับสมาชิกในครัวเรือน นอกจากนี้ยังมีการส่งต่อความรู้จากรุ่นสู่รุ่นโดยการให้รุ่นพี่เป็นคนดูแลให้ความรู้รุ่นน้อง
3.3 งานโครงสร้างพื้นฐานด้านกายภาพ
โครงข่ายถนน มีถนนครอบคลุมทุกชุมชน มีการตรวจสอบสภาพการใช้งาน และมีการดำเนินโครงการซ่อมบำรุงถนนตามแผนสม่ำเสมอ ส่วนน้ำเพื่อการบริโภคมีครอบคลุมทุกบ้าน หน่วยงานรับผิดชอบคือการประปาส่วนภูมิภาค โดยเทศบาลฯ เป็นผู้ติดต่อประสานงาน ส่วนไฟฟ้ามีใช้ครบทุกหลังคาเรือน หน่วยงานผู้รับผิดชอบคือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
ภาพรวมของการบริการสาธารณะของเทศบาลเมืองเพชรบุรี จากรายงานผลการประเมินประสิทธิภาพของ อปท. ประจำปี 2563 ในด้านที่ 4 การบริการสาธารณะ เทศบาลเมืองเพชรบุรีได้คะแนน 378 คะแนน จาก 420 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 90 ของคะแนนเต็ม และคิดเป็นร้อยละ 41.54 ของคะแนนรวมของการประเมินประสิทธิภาพทั้ง 5 ด้าน (สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดเพชรบุรี, 2563
3.4 งานโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม
ด้านการศึกษา เทศบาลมีโรงเรียนในสังกัดทั้งหมด 4 โรงเรียน โดยมีการจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จนถึงระดับมัธยมต้นตามการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยมีโรงเรียนอนุบาลถึงประถม 6 จำนวน 2 โรงเรียน อีก 2 โรงเรียน จัดการศึกษาถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น มีจำนวนครูเหมาะสมกับจำนวนเด็ก มีหลักสูตรและแผนพัฒนาการเรียนการสอนในทุกช่วงชั้น และใช้หลักสูตรของกรมปกครองส่วนท้องถิ่น และมีการเรียนเสริม การสอนเสริมประกอบ
นอกจากนี้ยังพบว่านโยบายด้านการศึกษาใหม่ของเทศบาลเมืองเพชรบุรี ส่งเสริมให้แต่ละโรงเรียนภายใต้ความดูแลของทางเทศบาล มีความเป็นเลิศเฉพาะด้าน ยกตัวอย่างเช่น โรงเรียนที่มีศักยภาพทางด้านการเรียนการสอนด้านเทคโนโลยี ทางเทศบาลฯ จะดำเนินการทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าในการเป็นพี่เลี้ยงรวมทั้งการกำหนดหลักสูตรการศึกษาร่วมกัน หรือโรงเรียนที่มีความถนัดด้านกีฬาเทศบาลฯ จะติดต่อไปยังมหาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตสมุทรสาครขอความร่วมมือในการดูแลและพัฒนาส่งเสริมการกีฬา เป็นต้น ซึ่งเป้าหมายของนโยบายของเทศบาลฯ คือการพัฒนาเด็ก และนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาเป็นเครื่องมือในการจัดการเรียนการสอน
งานด้านสาธารณสุข กองสาธารณสุขฯ ได้ทำงานร่วมกับ อสม. ทั้ง 17 ชุมชน ในการดูแล สำรวจ รับเรื่องราวร้องทุกข์ และการให้ความรู้ด้านสาธารณสุขกับคนในชุมชน เช่น การกำจัดแหล่งเพาะพันธ์ยุงลาย
งานด้านการจัดการขยะ เป็นภารกิจของกองสาธารณสุขฯ ในการเก็บขยะตามบ้าน ตามหน่วยงาน ไปที่พักขยะของเทศบาลฯ จากนั้นจึงมีบริษัทเอกชนรับไปกำจัด ซึ่งเทศบาลฯ มีนโยบายที่จะลดระยะเวลาในขั้นตอนการพักขยะในพื้นที่ โดยการรวบรวมขยะและส่งไปพื้นที่รับกำจัดขยะโดยตรง และมีโครงการรณรงค์คัดแยกขยะต้นทาง โครงการถนนปลอดถังขยะที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง
การใช้งบประมาณสำหรับพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เทศบาลฯ มีงบประมาณที่เพียงพอในการบริหารจัดการ และได้รับการสนับสนุนหรือมีการเชื่อมโยงงบประมาณกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น งบประมาณในการทำถนนจากกรมการท่องเที่ยว หรือเงินช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียงจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือความช่วยเหลือประชาชนด้านโควิดจากกระทรวงสาธารณสุข หรือการของบประมาณจัดสร้างสนามกีฬาจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
3.5 การส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรมและวิสาหกิจชุมชน
การส่งเสริมอาชีพ มีกองสวัสดิการสังคม เป็นผู้รับผิดชอบ พบว่า มีงบประมาณในการส่งเสริมการพัฒนาชุมชน 20,000 บาท ต่อปีต่อหนึ่งชุมชน ซึ่งเป็นค่าวัสดุอุปกรณ์ ค่าวิทยากรให้ความรู้ต่างๆ นอกจากนั้นยังมีกลุ่มศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง มีกลุ่มวิสาหกิจชุมชน คือ วิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงไส้เดือนเพชรบุรี วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวชุมชนเมืองเพ็ชร์
การส่งเสริมผู้สูงอายุให้มีรายได้ พบว่า เทศบาลฯ มีการดำเนินการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน ชุมชนท่องเที่ยวชุมชนเมืองเพ็ชร์ ในเรื่องของอาชีพ และความรู้ กับคนในชุมชน รวมไปถึงการส่งเสริมผู้สูงอายุให้มีรายได้โดยการส่งเสริมด้านอาชีพควบคู่กับการท่องเที่ยวชุมชน แต่ในปัจจุบันยังไม่ได้ส่งเสริมในเรื่องการตลาดอย่างเป็นรูปประธรรม เทศบาลฯ กำลังจัดทำแผนการทำงานด้านเศรษฐกิจ เกี่ยวกับงานด้านอาชีพ และการพัฒนาสินค้าและการตลาดของชุมชน
3.6 สังคมและวัฒนธรรม
การส่งเสริมด้านสังคมและวัฒนธรรม เทศบาลฯ มีโครงการส่งเสริมประชาชนให้มีศีลธรรม ความสามัคคี เช่น โครงการอบรมด้านศาสนา ค่ายพุทธบุตรสำหรับเยาวชน ปีละ 1 ครั้ง มีโครงการตามวันสำคัญทางศาสนา และโครงการส่งเสริมเยาวชนในพื้นที่ได้เรียนรู้องค์ความรู้จากภูมิปัญญาของท้องถิ่นจากปราชญ์ชาวบ้าน
3.7 การจัดการศึกษา สาธารณสุข และการจัดการขยะ ในระดับที่สูงขึ้น
เทศบาลเมืองเพชรบุรี มีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ช่วยในเรื่องของการสาธารณสุข เช่น มีการจัดอบรมป้องกันยุงลายให้กับประชาชน
การจัดการขยะ เทศบาลฯ โดยท่านนายกฯ ได้เล็งเห็นว่าอาจก่อให้เกิดปัญหาในบริเวณรอบที่พักขยะ จึงมีนโยบายที่จะลดระยะเวลาในขั้นตอนการพักขยะในพื้นที่ โดยการรวบรวมขยะและส่งไปพื้นที่รับกำจัดขยะโดยตรง รวมทั้งยังมีโครงการรณรงค์คัดแยกขยะต้นทาง และโครงการถนนปลอดถังขยะที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนการจัดการขยะอินทรีย์ รวมทั้งกิ่งไม้ กองสาธารณสุขฯ และกองการช่าง จะนำมาเก็บรวบรวมในพื้นที่ของเทศบาล โดยจะมีแผนงานต่อยอดโดยจะขอจัดสรรงบประมาณสร้างที่ย่อยขยะอินทรีย์รวมทั้งกิ่งไม้เพื่อให้เกิดมูลค่าขึ้น
3.8 การพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อมให้ดียิ่งขึ้น
เทศบาลเมืองเพชรบุรีมีนโยบายด้านการสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม โดยการพัฒนาระบบการจัดการขยะ การจัดการความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมืองทั้งทางบกและทางน้ำ การเพิ่มสวนสาธารณะและพื้นที่สีเขียว เพื่อให้เมืองมีภูมิทัศน์ที่สวยงาม และประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี เช่น การจัดโครงการอนุรักษ์แม่น้ำเพชร การส่งเสริมเรื่องการปลูกพืชสมุนไพรในครัวเรือน เป็นต้น