จุดเด่นการประยุกต์ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
องค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาคร ได้รับการประเมินระดับความเป็นเศรษฐกิจพอเพียงอยู่ในระดับ “เข้าถึง” สะท้อนการเป็น “องค์กรแห่งประโยชน์สุข” โดยมีคะแนนของตัวชี้วัดแต่ละประเด็น ดังตารางที่ 1 ซึ่งจากการศึกษา พบว่า การบริหารงานการประยุกต์ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของ อบจ. มีจุดเด่น 4 ประการ ดังนี้
3.1 การวางแผนการทำงานเพื่อส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น
อบจ.ได้ส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มและการทำกิจกรรมของเยาวชนภายในจังหวัดมากกว่า 3 กลุ่ม เพื่อบ่มเพาะความเป็นพลเมืองที่มีจิตสาธารณะและเปิดโอกาสการพัฒนาศักยภาพตามความถนัดและความสนใจ โดยมีทั้งสภาเด็กและเยาวชน และกลุ่มเยาวชนที่รวมกลุ่มกันตามประเด็น เช่น ประเด็นสิ่งแวดล้อม ประชาธิปไตย กีฬาประเภทต่าง ๆ เป็นต้น สำหรับประเด็นสิ่งแวดล้อม อบจ.ได้คัดเลือกนักเรียนจากโรงเรียนในสังกัดให้เข้ารับการอบรมเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ประมาณปีละ 80 คน โดยทำอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลา 12 ปี ส่วนเรื่องการปลูกฝังแนวคิดประชาธิปไตย ก็ได้สนับสนุนให้โรงเรียนบ้านปล่องเหลี่ยม เป็น “ศูนย์การเรียนรู้ประชาธิปไตยสู่การเรียนรู้ที่ยั่งยืน” ซึ่งได้รับลิขสิทธิ์ทางปัญญา ประเภทวรรณกรรม จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เมื่อปี พ.ศ. 2563 โดยมีนักเรียนจากโรงเรียนต่าง ๆ ไปศึกษาเรียนรู้จำนวนมาก
นอกจากนี้ อบจ.ยังเปิดโอกาสให้เยาวชนได้เข้ามาฝึกงานหรือทดลองงานในสำนักงานเพื่อพัฒนาศักยภาพและทักษะ ซึ่งเมื่อมีการเปิดรับบุคลากรใหม่ เยาวชนกลุ่มนี้ก็จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษเนื่องจากมีประสบการณ์ตรง และเท่าที่ผ่านมาได้มีการรับบุคลากรใหม่เข้ามาทำงานใน อบจ. ซึ่งอดีตเคยเป็นยาวชนจากสมาคมกีฬา
3.2 งานโครงสร้างพื้นฐานกายภาพ
อบจ.ทำการบำรุงรักษาโครงข่ายถนนที่เชื่อมต่อระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดให้พร้อมสัญจรได้ทุกฤดูกาล สนับสนุนให้มีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคพอเพียงตลอดปี ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ทุกพื้นที่ทั้งจังหวัดมีไฟฟ้าใช้ สนับสนุนการใช้พลังงานทางเลือกเพื่อเป็นแบบอย่างให้กับ อปท. ในพื้นที่ เช่น การจัดทำอาคารอัจฉริยะ การติดตั้งไฟฟ้าบริเวณถนนในเมือง ซึ่งในช่วงแรกประชาชนไม่เห็นด้วย เพราะคิดว่าไม่จำเป็นต้องมีโซล่าเซลล์ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ไฟดับ แต่ถนนยังมีแสงสว่างอยู่ ทำให้ทุกคนเห็นประโยชน์ของการใช้พลังงานทางเลือกมากยิ่งขึ้น นอกจากจะติดตั้งถนนในเมืองแล้วยังขยายไปยังโรงเรียนในสังกัดและค่ายทหารกระทุ่มแบนอีกด้วย และในอนาคต อบจ. ได้มีการวางแผนจัดทำสายไฟใต้ดิน เพื่อปรับภูมิทัศน์ของเมือง ซึ่งการให้บริการทั้งหมดนี้ประชาชนมีความพึงพอใจในระดับมาก
3.3 การบริหารงานภายในให้เป็นองค์กรแห่งความสุข
อบจ.ได้ส่งเสริมให้มีการจัดการความรู้ภายในเป็นประจำ โดยภาพรวมทั้งองค์กรมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หรือจัดการความรู้ทุกสัปดาห์ในรูปแบบ เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ในรูปแบบทางการ ได้แก่ การประชุมหัวหน้าส่วนราชการ โดย นายกฯ จะเข้าร่วมประชุมทุกครั้งเพื่อสอบถามปัญหาหรืออุปสรรคที่เกิดขึ้นและช่วยกันหาทางแก้ไขหรือเรียนรู้ร่วมกัน ในรูปแบบที่ไม่เป็นทางการ ได้แก่ การพูดคุยระหว่างบุคลากรที่เผชิญปัญหาแบบเดียวกันเพื่อหาทางออกร่วมกัน และความรู้นั้นสามารถนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างสัมฤทธิผล ทั้งยังทำให้ทุกคนสามารถทำงานแทนกันได้ ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 บุคลากรจำเป็นต้องสลับเวรกันมาเพื่อรักษาระยะห่างตามมาตรการ แต่ทุกคนก็สามารถให้บริการแก่ผู้มาติดต่อได้เหมือนกัน
ในเรื่องความรักสามัคคี พบว่าไม่มีการแบ่งแยกเป็นฝักเป็นฝ่าย ต่างฝ่ายต่างช่วยเหลือกันโดยยึดประโยชน์ของผู้รับบริการเป็นสำคัญ ซึ่งในแต่ละปี อบจ. จะ “เสริมแรง” ด้วยการมอบรางวัลให้กับบุคลากรที่มีความตั้งใจในการทำงาน ไม่ขาด ไม่ลา ไม่สาย และมีจิตอาสาช่วยเหลืองานผู้อื่น ซึ่งจะต้องผ่านความเห็นชอบจากทุกคน
3.4 การส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรมและวิสาหกิจชุมชน
อบจ.ได้ส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรมและวิสาหกิจชุมชนทั้งในรูปของการพัฒนาศักยภาพโดยตรง และการทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานเชื่อมโยง “ทุน” ต่าง ๆ ในชุมชนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความแข็งแรงแก่เศรษฐกิจฐานราก เช่น การจัดทำสวนน้ำชุมชนบ้านคลองแค อำเภอบ้านแพ้ว ซึ่งดำเนินงานโดย “กลุ่มวิสาหกิจบ้านคลองแค” ปัจจุบันกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งพักผ่อนที่สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน