ถอดบทเรียน ทต. เขาย้อย อปท. ในระดับเข้าถึงความเป็นเศรษฐกิจพอเพียง....

sepaction  avatar   
sepaction
เทศบาลตำบลเขาย้อย ได้รับการประเมินระดับความเป็นเศรษฐกิจพอเพียงอยู่ในระดับ “เข้าถึง” สะท้อนการเป็น “องค์กรแห่งประโยชน์สุข” โดยมีคะแนนของตัวชี้วัดแต่ละประเด็น ดังตารางที่ 1 ซึ่งจากการศึกษา พบว่า การบริห..

จุดเด่นการประยุกต์ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

 

          เทศบาลตำบลเขาย้อย ได้รับการประเมินระดับความเป็นเศรษฐกิจพอเพียงอยู่ในระดับ “เข้าถึง” สะท้อนการเป็น “องค์กรแห่งประโยชน์สุข” โดยมีคะแนนของตัวชี้วัดแต่ละประเด็น ดังตารางที่ 1 ซึ่งจากการศึกษา พบว่า การบริหารงานการประยุกต์ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของ ทต. มีจุดเด่น 6 ประการ ดังนี้

 

3.1 การวางแผนและจัดทำแผนแบบมีส่วนร่วม

          เทศบาลตำบลเขาย้อย มีการจัดทำแผนโดยกระบวนการมีส่วนร่วม ทั้ง 4 ฝ่าย คือ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายสภา ข้าราชการประจำ ภาคประชาชน โดยมีการจัดทำเวทีประชาคม และเชิญเครือข่ายที่มีส่วนสนับสนุนในการทำโครงการของเทศบาล เข้าร่วม เช่น หน่วยงานภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคสนาม และภาควิชาการ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อชุมชน เทศบาลตำบลเขาย้อย โดยในเวทีประชาคมได้มีข้อตกลงว่าผู้ที่จะเสนอเรื่องต่างๆ ต้องอยู่ในที่ประชุม และมีการลงสำรวจ ให้ชุมชนชี้จุด โดยต้องลงรายมือรับรอง เมื่อมีการตกลงเรียบร้อยแล้ว จะมีการประกาศ ณ ที่ก่อสร้างประมาณ 15 วัน เพื่อเปิดโอกาสเป็นครั้งสุดท้ายก่อนลงมือทำงาน โดยทางผู้บริหารได้กล่าวว่า           

          “...การที่เราทำแบบนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ที่แท้จริงต่อชุมชน และชุมชนต้องการจริงๆ เพราะเราเปิดให้ชุมชนได้มีโอกาสร้องเรียน...”

          ส่วนในกรณีที่เกี่ยวข้องกับการทำแผนงาน ในการเข้าสู่กระบวนการตัดสินใจครั้งสุดท้ายในการเขียนแผน ทางภาคประชาชนได้มีโอกาสเข้าร่วมผ่านตัวแทนภาคประชาชน คือ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนหมู่บ้าน และมีการสุ่มชื่อของประชาชนตามทะเบียนบ้านและทำหนังสือเชิญมาเข้าร่วมในเวทีสุดท้าย ซึ่งส่วนใหญ่ชุมชนจะมาเข้าร่วมประมาณร้อยละ 20 

          เมื่อเทศบาล จัดทำแผนและมีข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะมีการประกาศใช้และส่งแผนพัฒนาท้องถิ่นรายงานให้อำเภอเมือง และมีช่องทางในการประกาศแผนพัฒนาประจำปี เพื่อเผยแพร่ให้สาธารณะได้ทราบแผนในข้อบัญญัติ/ เทศบัญญัติล่วงหน้า คือ ผ่านทางเว็บไซต์ของเทศบาล http://www. khaoyoi-minicip.com การปิดประกาศที่บอร์ดหน้าเทศบาล และหอกระจายข่าว ในขณะเดียวกันมีการประกาศงบประมาณที่คงเหลือจากการดำเนินงานตามข้อบัญญัติ/เทศบัญญัติ ให้สาธารณะทราบทุกไตรมาศ ผ่านหนังสือเชิญกำนัน ผู้ใหญ่บ้านมาประชุเพื่อรายงานผล

 

3.2 งานโครงสร้างพื้นฐานกายภาพ

          การดำเนินงานด้านสาธารณูปโภคเป็นไปตามที่ทางนโยบายของนายกเทศมนตรี ที่ให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ที่ดี สะดวกสบายของประชาชนเป็นหลัก มีโครงข่ายถนนเข้าถึงทุกหมู่บ้าน และประเภทของถนนเหมาะสมสำหรับการลักษณะการใช้งาน และมีการบำรุงรักษาโครงข่ายถนนอยู่ตลอดเวลา มีการตรวจสอบสภาพของถนนและมีการจัดทำแผนงบประมาณในการซ่อมบำรุง ทำให้การสัญจรไปมาได้สะดวกทุกฤดูกาล นอกจากนี้ทางเทศบาลยังมีหน่วยตรวจสอบการใช้ถนนที่ผิดประเภท เช่น ถนนบางพื้นที่ไม่เหมาะกับรถบรรทุก เพราะเป็นพื้นที่ที่อยู่อาศัย แต่เนื่องจากเทศบาลอยู่ในพื้นที่กึ่งเมือง ส่งผลให้มีรถนอกพื้นที่ที่มีน้ำหนักเกินหรือรถของบริษัทก่อสร้างต่าง ๆ วิ่งเข้ามาในพื้นที่โดยไม่ได้ขออนุญาต

          ในส่วนของน้ำเพื่อการบริโภคนั้น ทางเทศบาลได้มีการจัดสรรน้ำที่มีคุณภาพให้บริโภคพอเพียงตลอดทั้งปี โดยมีการจัดสรรงบประมาณในการตรวจสอบคุณภาพน้ำเพื่อให้คำแนะนำกับชุมชนในการใช้น้ำในการบริโภค เช่น น้ำใช้ หรือน้ำกิน โดยมีการส่งเสริมให้มีแหล่งน้ำเพื่อการบริโภคทุกหลังคาเรือน หรือในบางพื้นที่เป็นพื้นที่ที่อยู่ไกล งานป้องกันฯ ได้มีการส่งน้ำไปให้ประชาชนใช้ โดยชาวบ้านจะมีถังภัยแล้งวางไว้ ทางเทศบาลจะนำน้ำไปเติมให้เต็ม

ทุกหมู่บ้านมีไฟฟ้าใช้ และมีการติดตั้งไฟฟ้าตามถนนสาธารณะ ถนนเรียบคลองชลประทาน ส่วนในช่วงที่ปัญหาเรื่องไฟฟ้า ถ้าเป็นเพียงเหตุการณ์เล็กน้อย ทางเทศบาล สามารถแก้ไขได้ทันที แต่ในกรณีที่เป็นปัญหาใหญ่ ทางเทศบาลจะมีผู้จ้างรับเหมาให้เข้ามาดูแล

 

3.3 การบริหารงานภายในให้เป็นองค์กรแห่งความสุข

          เทศบาลตำบลเขาย้อย มีเจ้าหน้าที่ ทั้งหมด 61 คน ประกอบไปด้วยฝ่ายงาน 6 งาน ได้แก่ สำนักปลัด กองคลัง กองการศึกษา กองช่าง กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม และกองสวัสดิการและสังคม โดยภาพรวมทั้งองค์กร มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมถึงมีการประชุมประจำปี 2 ครั้ง โดยทางนายกเทศมนตรีจะแจ้งแนวนโยบายในการงาน ส่วนแต่ละกองมีการจัดการความรู้ทุกเดือน และความรู้นั้นสามารถนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างสัมฤทธิผล นอกจากนั้นยังมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานภายในกองอย่างสม่ำเสมอส่งผลให้พนักงานทุกคนสามารถทำงานแทนกันได้ ส่วนใหญ่ในแต่ละกองจะเป็นลักษณะการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างไม่ทางการ เช่น ในเวลาอาหารกลางวัน ที่พนักงานนิยมห่อข้าวมาทานร่วมกัน ก่อให้เกิดความรักและความสามัคคี มีความเป็นพี่น้องในที่ทำงาน

          บุคลากรทุกคนในองค์กรมีมุทิตาจิตต่อกัน เช่น มีความยินดีต่อรางวัล/ คำชื่นชมที่เพื่อนร่วมงานของตนได้รับจากการปฏิบัติงาน และผู้บังคับบัญชามีมุทิตาจิตและอุเบกขาต่อผู้ใต้บังคับบัญชาในสถานการณ์ที่จำเป็น บุคลากรในองค์กรเป็นผู้ที่มีความสุข มีความสุขจากบรรยากาศของการทำงานในที่ทำงานเหมือนเป็นบ้านหลังที่สอง บุคลากรมากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 60 ไม่มีภาระหนี้สินและปลอดจากอบายมุข

          โดยพบว่าร้อยละ 40 ของผู้บริหาร และจ้าหน้าที่ รวมถึงภาคประชาชนที่มาทำงานร่วมกับเทศบาล เป็นผู้ที่ทำงานมากว่า 10 ปี เนื่องจากเป็นองค์กรที่มีคุณธรรม ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีความเป็นพี่น้อง ซึ่งการค้นพบในหัวนี้สอดคล้องกับผลคะแนน ITA รายดัชนี ที่พบว่าด้านคุณธรรมการทำงานในหน่วยงาน ได้คะแนน 87.09 ซึ่งอยู่ในระดับสูงมาก

 

3.4 โครงสร้างพื้นฐานสังคม

          ด้านการศึกษา พบว่า เทศบาลเขาย้อย มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จำนวน 5 แห่ง มีการจัดการศึกษาสำหรับเด็กก่อนปฐมวัย อายุระหว่าง 2-3 ปี จำนวน 163 คน ซึ่งมีครูจำนวน 13 คน ซึ่งอัตราส่วนของครูต่อเด็กปฐมวัยตามเกณฑ์ของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น  คือ 12-13 คน ต่อเด็ก 1 คน และหากมีเศษตั้งแต่ 5 คนขึ้น ดังนั้นถือว่าการจัดการการศึกษาของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลบ้านในดงมีจำนวนครู่ไม่เหมาะสมกันจำนวนนักเรียน แต่ทางเทศบาลก็ได้พยายามจัดการดูแลเด็กให้ได้อย่างเหมาะสมโดยจัดการหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พร้อมทั้งกิจกรรมต่างๆ ที่ส่งเสริมพัฒนาการของเด็กปฐมวัย เช่น มีกิจกรรมเคลื่อนไหว กิจกรรมเสริมประสบการณ์ กิจกรรมสร้างสรรค์ กิจกรรมกลางแจ้ง และกิจกรรมเกณฑ์การศึกษา นอกจากนั้นมีการจัดทีมในการดูแลเรื่องโภชนาการอาหารของเด็กในศูนย์ปฐมวัย มี รพสต. พยาบาลวิชาชีพที่เป็นเจ้าหน้าที่ของเทศบาล เข้าร่วมกันคิดเมนูอาหารและวัตถุดิบที่ใช้ปรุงอาหารเพื่อนำไปสู่พัฒนาการของเด็ก เช่น ในราดหน้าควรมีผักคะน้า แครอท เนื้อสัตว์ที่เป็นโปรตีน

          ส่วนงานด้านสุขอนามัยมีโครงการกำจัดยุงลาย และโรคพิษสุนัขบ้า โดยการให้ความรู้ ฉีดพ่นหมอกควัน แจกทรายอะเบท ทุก ๆ 3 เดือน ก่อนฤดูกาลฝน และก่อนการเปิดเรียนของโรงเรียน ในปี 2561 มีจำนวนของผู้ป่ายเป็นโรคไข้เลือดออกจำนวน 10 ราย ส่วนพาหะนำโรคอื่นๆ จะมีการเฝ้าระวังตามสถานการณ์

          ในด้านการจัดการขยะนั้น จากการสังเกตของนักวิจัยพบว่า ทางถนนและพื้นที่สาธารณะในหมู่บ้านมีความสะอาดในระดับมาก มีการกำจัดขยะในพื้นที่อย่างได้ผลโดยไม่มีเศษขยะตกเกลื่อนกลาดในทุกหมู่บ้านของตำบล

 

3.5 สังคมและวัฒนธรรม

          เทศบาลตำบลเขาย้อย ได้มีการส่งเสริมความรัก ความสามัคคีและสัมพันธภาพที่ดีระหว่างชุมชนกับวัดในพระพุทธศาสนา ตามความเชื่อของประชาชนในท้องถิ่นหรือตามวัฒนธรรมประเพณีที่ดำเนินการโดยเทศบาล อย่างน้อยปีละ 6 ครั้ง เช่น การจัดงานทอดกฐิน การจัดผ้าป่ากองทุนการศึกษา การจัดงานสงกรานต์ การจัดงานออกพรรษา กาจัดงานลอยกระทง การจัดงานวันเข้าพรรษาและวันออกพรรษา และการจัดงานตามวันในพระพุทธศาสนา เทศบาลมีการจัดให้มีงานบุญประเพณีใหญ่ประจำปีที่มีผู้เข้าร่วมงานทั้งในและนอกพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 2 ครั้ง ต่อปี คืองานทำบุญสาร์ทลาว งานไททรงดำ งานใต้ดอกไม้ รวมทั้งมีการจัดอบรมจิตใจให้ประชาชนเป็นผู้ที่มีศีลธรรมและมีความประพฤติดี อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เช่น การจัดปฏิบัติธรรม 6 วัน 5 คืน ที่วัดห้วยหลวง ในวันวิสาขบูชา และการพัฒนาบุคลากรด้านคุณธรรมและจริยธรรมโดยการฟังเทศน์ปีละ 1-2 ครั้ง

 

3.6 การพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ดียิ่งขึ้น

          เทศบาลตำบลเขาย้อยมีการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อมให้ดียิ่งขึ้นในหลายๆ มิติ เช่น 1) มีส่วนร่วมในการลด ป้องกัน หรือบรรเทาความทุกข์ยากของประชาชนในพื้นที่จากอุบัติภัย โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องน้ำ ทั้งน้ำท่วม 2) มีส่วนร่วมในการสร้างฝายชะลอน้ำ 3) มีการจัดโครงการ/กิจกรรมให้ความรู้หรือสร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อม โดยการพัฒนาจิตอาสาเรื่องสิ่งแวดล้อม 4) มีส่วนร่วมในการส่งเสริมการปลูกต้นไม้ และ/หรือเพิ่มพื้นที่สีเขียวในพื้นที่ มีโครงการให้ชุมชนร่วมกันปลูกต้นไม้ในบริเวณสาธารณะ เช่น ริมคลอง 5) มีส่วนร่วมในการจัดให้มีและบำรุงรักษาแหล่งน้ำสาธารณะในหมู่บ้าน โดยมีเจ้าหน้าที่ของเทศบาลดูแลแหล่งน้ำของหมู่บ้าน เพื่อส่งผลต่อการมีน้ำใช้ตลอดทั้งปี 6) มีส่วนร่วมในกิจกรรมส่งเสริมให้แต่ละบ้านรักษาความสะอาด น่าอยู่ และปลอดภัย 7) มีส่วนร่วมในการจัดให้มีและบำรุงรักษาพื้นที่สาธารณะเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจของประชาชนให้มากขึ้น และ 8) มีส่วนร่วมดูแลและป้องกันอุบัติภัยทางถนนภายในพื้นที่ โดยการจัดตั้งด่านอุบัติภัย ทำสัญญาณจุดเสี่ยง 6 จุด ตามโค้งถนน

ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น